Posted on Tuesday, January 04, 2011 |
ปีที่ผ่านมา หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กกลายเป็นที่นิยมของนักลงทุนอย่างเห็นได้ชัด กระแสนี้ไม่เพียงเกิดกับบบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET เท่านั้น แต่พบว่าหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หลายแห่งก็เป็นที่สนใจของนักลงทุนเช่นกัน นั่นเพราะผลประกอบการที่เติบโตได้ดีในภาวะเศรษฐกิจผันผวน ระดับราคาที่น่าเข้าลงทุน และการจ่ายปันผลที่มีอย่างต่อเนื่อง หลายคนจึงติดใจเสน่ห์ของหุ้นเล็กเหล่านี้จนต้องหามาติดพอร์ตลงทุนไว้เสมอ จากข้อมูลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 พบว่าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) กว่า 5.22 หมื่นล้านบาท มีจำนวนบริษัทจดทะเบียน 65 ราย โดยนับจากต้นปีพบว่า mai Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 25% ขณะที่ Performance ของบริษัทจดทะเบียนในงวด 9 เดือนแรกพบว่า 63 บริษัทที่ส่งงบการเงินสามารถทำกำไรสุทธิรวม 1,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% และมียอดขายรวม 39,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า ในจำนวนนี้ M&W ได้คัดเลือก 10 บริษัทจากตลาดหลักทรัพย์ mai โดยพิจารณากลุ่มที่มีอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) สูงสุดในช่วงปี 2553 ซึ่งพบว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราเงินปันผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในช่วงดังกล่าวซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3.35% สะท้อนถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดในการประเมินมูลค่าหุ้นว่ามีผลตอบแทนกลับคืนสู่ผู้ถือหุ้นอย่างโดดเด่น
SALEE ปันผลสูงสุด 11.89% เริ่มกันที่ บมจ.สาลี่อุตสาหกรรม (SALEE) เป็นบริษัทที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลตอบแทนสูงสุดถึง 11.89% โดยการจ่ายปันผลในระดับสูงเช่นนี้เป็นผลจากแนวโน้มการทำกำไรที่ดีขึ้นของบริษัท โดยในปีที่ผ่านมา SALEE มีการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทสูงขึ้น ตั้งแต่การตัดสินใจขาย “เอสซี วาโด” บริษัทย่อยที่ทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการโดยรวมของ SALEE นอกจากนี้ บริษัทยังประกาศร่วมทุนกับ Pago Holding AG (PAGO) ผู้ผลิตฉลากผลิตภัณฑ์และเครื่องติดฉลากจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดย PAGO เข้าถือหุ้นในบริษัทลูกและเปลี่ยนชื่อเป็น “พาโก้ สาลี่ พริ้นท์ติ้ง” ส่งผลให้ SALEE มีโอกาสขยายธุรกิจการผลิตฉลากสินค้าไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการรับงานจากลูกค้ากลุ่มบริษัทข้ามชาติ สำหรับโครงสร้างธุรกิจใหม่นี้ นักวิเคราะห์พากันคาดว่าจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของ SALEE จะมีเสถียรภาพและทรงตัวในระดับสูงมากขึ้น รวมถึงมีโอกาสสูงที่กำไรจะปรับตัวสูงจากอดีตอย่างต่อเนื่อง TRT หุ้นสู้วิกฤติ ผลกำไรงวด 9 เดือนแรกของ บมจ.ถิรไทย (TRT) อยู่ที่ 117.22 ล้านบาท จากรายได้รวม 1,132 ล้านบาทซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของธุรกิจตามปริมาณการส่งมอบงานที่ดีขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับวิกฤติการเมืองในประเทศ ส่งผลให้ลูกค้าส่วนใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนชะลอการส่งมอบงานออกไป อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างโดดเด่นในปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อผู้ถือหุ้นสูงเป็นอันดับ 2 คือ 8.81% TRT ทำธุรกิจด้านการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นหุ้นตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นของธุรกิจนี้อยู่ที่ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนในประเทศซึ่งส่งผลต่อดีมานด์การใช้หม้อแปลงไฟฟ้าด้วย สำหรับปีนี้ปัจจัยหนุนของ TRT คือปริมาณงานในมือที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.4 พันล้านบาท รวมถึงการขยายงานไปยังต่างประเทศซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัทในระยะยาว UBIS รายได้ยังเติบโต บมจ.ยูบิส (เอเชีย) (UBIS) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเคมีคุณภาพสูงชนิดพิเศษ โดยมีธุรกิจหลักคือแล็คเกอร์เคลือบกระป๋อง และยางยาแนวฝากระป๋องซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระป๋องโลหะสำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น และภาวะการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องที่ลดลงส่งผลให้กำไรในไตรมาส 3 ปรับตัวลดลง แต่ในงวด 9 เดือน พบว่ารายได้รวมยังคงเติบโต 12% อยู่ที่ 466.54 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 60.4 ล้านบาท โดยบริษัทรั้งตำแหน่งบริษัทที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลสูงเป็นอันดับ 3 ของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่ 8.30% JUBILE กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ JUBILE หรือ บมจ.ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ ทำผลงานได้ดีเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัทขยายสาขาเป็น 77 แห่งขณะที่ยอดขายในสาขาเดิมยังเติบโตในระดับสูงส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาการเป็นผู้นำตลาดขายเครื่องประดับผ่านเคาน์เตอร์เป็นอันดับหนึ่งไว้ได้ โดยปีนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองที่ดีต่อหุ้น JUBILE โดยคาดว่าจะได้แรงหนุนจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลให้มีต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่ลดลง รวมถึงการขยายตัวของการบริโภคในประเทศที่จะมีผลต่อการเติบโตของรายได้และกำไร ซึ่งปีนี้บริษัทยังมีแผนขยายสาขาเป็น 90 แห่ง รวมถึงการออกสินค้าใหม่สำหรับลูกค้าหลายกลุ่มซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มยอดขายในปีนี้ให้เติบโตได้ดีอีกทางหนึ่ง 2S ผลประกอบการตก แต่อัตราปันผลสูง บมจ.2 เอส เมทัล (2S) (ชื่อเดิม : บมจ.เซาท์เทิร์นสตีล) เป็นอีกหนึ่งหุ้นกลุ่มเหล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากยอดขายที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้บริษัทมีกำไรงวด 9 เดือนปี 2553 เท่ากับ 70.54 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 87.26 ล้านบาท โดยพบว่าบริษัทได้รับผลกระทบหนักในช่วงไตรมาส 3 จากปริมาณการขายที่ลดลงซึ่งมีสาเหตุมาจากแนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์เหล็กที่ปรับตัวลดลงและทำให้มียอดการสั่งซื้อสินค้าชะลอตัว บวกกับภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้ลูกค้าต่างประเทศชะลอคำสั่งซื้อสินค้าออกไป อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมีอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงเป็นอันดับ 5 ที่ 7.86 % DM รายได้และกำไรสม่ำเสมอ บมจ.ธนมิตร แฟคตอริ่ง (DM) ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่งหรือธุรกิจบริหารลูกหนี้การค้าโดยมีลูกค้าหลักคือผู้ประกอบการกลุ่มโมเดิร์นเทรด ปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับแรงหนุนจากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวส่งผลให้มูลค่าการรับซื้อเอกสารเพิ่มขึ้นและมีกำไรสุทธิเติบโตในระดับสูงคือ 35.61 ล้านบาทใกล้เคียงกับกำไรสุทธิของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ DM ถือเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการค่อนข้างสม่ำเสมอเนื่องจากมีรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนานอย่างกลุ่ม CPN ประกอบกับความสามารถในการบริหารความเสี่ยงส่งผลให้ระดับหนี้เสียค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ DM มีการจ่ายเงินปันผลต่อผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องโดยคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 7.35 % QLT คาดกำไรฟื้นตัวในปี 2554 บมจ.ควอลลีเทค มีอัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ 7.02 % เป็นอันดับ 7 ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ โดยปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจด้านงานบริการตรวจสอบวิศวกรรมให้แก่บริษัทในธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี นักวิเคราะห์คาดว่า ผลประกอบการในปี 2553 ที่เริ่มเห็นเทรนด์การฟื้นตัวสะท้อนโอกาสในการโตต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดว่าธุรกิจบริการทดสอบและตรวจสอบทางวิศวกรรมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ปัญหาในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดคลี่คลายลงไป ทั้งนี้ผู้บริหารให้ภาพรวมว่าในปีนี้ บริษัทมีงานในมือที่จะรับรู้ได้ราว 200 ล้านบาท นอกจากนี้ QLT ยังได้เข้าประมูลโครงการท่อส่งก๊าซที่ 4 ของ ปตท. มูลค่า 140 ล้านบาท ซึ่งหากบริษัทได้รับการคัดเลือกก็จะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2554 – 2555 GFM ลงทุนเพิ่มรับโอกาส บมจ. โกลด์ไฟน์ แมนูแฟคเจอเรอส์ (GFM) ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกเครื่องประดับอัญมณี มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนปีที่แล้ว เท่ากับ 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าจากปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปีนี้ แม้บริษัทยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และทิศทางราคาวัตถุดิบทองและเงินในตลาดโลกซึ่งปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมาจนส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงก็ตาม แต่หากพิจารณาจากการลงทุนขยายกำลังการผลิตในโรงงานแห่งใหม่เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาสะท้อนว่าบริษัทมีโอกาสรับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้บริษัทยังมีแผนออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่และบุกตลาดแถบยุโรปและอเมริกาเหนืออย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ GFM เป็นอีกบริษัทที่น่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องในปีนี้ ILINK ลุ้นฟื้นตัวจากงานประมูลปี 2554 แม้ว่าผลประกอบการของ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK) งวด 9 เดือนปีที่แล้ว จะออกมาต่ำอย่างน่าตกใจ โดยบริษัทมีกำไรเพียง 22.35 ล้านบาท แต่มุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างให้เครดิตว่า ILINK จะสามารถพลิกกลับมาเติบโตโดดเด่นอีกครั้ง เริ่มจากไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่จะทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจ Engineering เพิ่มขึ้น ขณะที่ปีนี้ บริษัทมีแผนเข้าประมูลงานในหลายโครงการ มูลค่ารวมราว 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยงด้านแนวโน้มการได้รับงานประมูลและความล่าช้าของการประมูล แต่ผู้บริหารก็ตั้งเป้ารายได้รวมปีนี้ไว้ที่ 1,435 ล้านบาท จาก 3 กลุ่มงานหลักคือ Distribution, Engineering และ Telecom BOL ลงทุนเพิ่มรับการเติบโต อันดับ 10 หุ้นปันผลเด่นตกเป็นของ บมจ.บิซิเนส ออนไลน์ (BOL) ซึ่งมีอัตราการจ่ายปันผลที่ระดับ 6.68 % แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะเป็นปีที่งานด้านการบริหารข้อมูลข่าวสารได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีที่แล้ว บริษัทมีกำไรเพียง 44.2 ล้านบาท แต่ผู้บริหารคาดว่าโดยภาพรวม BOL จะเติบโต 10% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้บริษัทยังมีการลงทุนเพิ่มเติมด้วยการตั้งบริษัทย่อยซึ่งมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟท์แวร์สำหรับงานวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มโอกาสและลดความเสี่ยงทางด้านธุรกิจ รวมถึงการวิจัยเพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ ใช้ร่วมกับกับฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อสนองความต้องการของตลาดในอนาคต จากคอลัมน์ mai Corner โดย จิราพร เพ็งจันทร์ นิตยสาร Money and Wealth มกราคม 2554 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น